หลังจากเกิดกระแส #saveทับลาน ในสื่อสังคมออนไลน์ รณรงค์ให้ประชาชนเข้าไปลงชื่อ “ไม่เห็นด้วย” ต่อการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานกว่า 2.65 แสนไร่ กลุ่มองค์กรประชาสังคมด้านสิทธิที่ดินทำกิน ได้ออกมาแสดงความกังวลว่า การคัดค้านการเพิกถอนดังกล่าว อาจกระทบต่อกลุ่มชาวบ้านที่ทำกินในที่ดินก่อนประกาศเขตพื้นที่อุทยานฯ และกลุ่มที่ทำประโยชน์เพื่อการเกษตร
กลุ่มผู้สนับสนุนกระแส #saveทับลาน วิจารณ์ว่า การเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ดังกล่าว จะลดพื้นที่ป่าอนุรักษ์และเอื้อต่อนายทุน โดยกลุ่มหลักที่คัดค้านคือมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งออกมาบอกว่า เส้นแนวเขตสำรวจอุทยานแห่งชาติจะทำให้เกิดการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ
ทว่าอีกฟากหนึ่งได้อธิบายว่า นี่ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องของ “นายทุนรุกป่า” แต่ยังมีชุมชนที่มีที่ดินที่ถูกประกาศเขตอุทยานฯ ทับที่ดินของตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหามาเป็นเวลากว่า 40 ปี
บีบีซีไทยสำรวจข้อเท็จจริงและมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญต่อกรณี #saveทับลาน ใน 5 เรื่อง ดังนี้
พื้นที่ 2.65 แสนไร่ ที่จะถูกเพิกถอน เป็นของนายทุนทั้งหมดหรือไม่ ?
พรพนา ก๊วยเจริญ ผู้อำนวยการแลนด์ วอทช์ ไทย (Land Watch THAI) บอกว่าพื้นที่ทั้ง 2.65 แสนไร่ไม่ได้เป็นของนายทุนทั้งหมด และจัดกลุ่มประเภทผู้ถือครองที่ดินในพื้นที่ทับซ้อนอุทยานแห่งชาติทับลานไว้ 3 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มพื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กว่า 58,000 ไร่ เป็นที่ดินจากการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินเมื่อปี 2521 ส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.วังน้ำเขียว แต่หลังจากกรมอุทยานฯ ประกาศเขตอุทยานฯ ออกมาในปี 2524 พื้นที่เหล่านี้จึงกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานฯ กลุ่ม Land Watch Thai ระบุว่า ปัจจุบันการครอบครองพื้นที่ในส่วนนี้ได้กินออกมากนอกเขตอุทยานฯ ด้วย
- กลุ่มพื้นที่จัดที่ดินทำกินตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ซึ่งเป็นโครงการด้านความมั่นคง รวมพื้นที่ 59,194 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ใน อ.เสิงสาง, อ.ครบุรี ของ จ.นครราชสีมา
- กลุ่มพื้นที่ที่ดำเนินการตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 รวมพื้นที่กว่า 150,000 ไร่ มติ ครม. นี้ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องคนกับป่า โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่รัฐดำเนินการตรวจสอบแนวเขตระหว่างปี 2541-2545 กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่ถูกดำเนินการโดยนโยบายของรัฐบาล กระจายอยู่ในที่ดินฝั่งวังน้ำเขียวของ จ.นครราชสีมา จนถึงเขต อ.นาดี ของ จ.ปราจีนบุรี และถูกตั้งคำถามมากที่สุดในเรื่องของการครอบครองที่ดิน
กลุ่มที่สามมีเยอะที่สุด แต่มีการปะปนกันอยู่ของชาวบ้านจริง ๆ” พรพนา กล่าว
ผอ.แลนด์ วอทช์ ไทย ยังบอกด้วยว่า ชาวบ้านที่ไม่ใช่นายทุนมีอยู่ในทุกกลุ่ม โดยเห็นว่าหน่วยงานรัฐมีข้อมูลอยู่ในมือที่สามารถตรวจสอบได้ เพราะว่ามีการตรวจสอบผ่านกระบวนการที่มีมายาวนาน อีกทั้งยังเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบภายใต้โครงการวันแมป (One map) ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช.
ทางกรมอุทยานฯ อ้างว่า หากปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามแนวเขตใหม่นี้ จะส่งผลให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ และแม้จะมีการเสนอผนวกพื้นที่ทางตอนเหนือในท้องที่ ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 80,000 ไร่ ก็ยังไม่สามารถที่จะยืนยันได้ว่าสามารถผนวกพื้นที่เข้ามาเพิ่มได้จริง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีราษฎรถือครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนมาก และอยู่ระหว่างการหาข้อยุติกับกรมป่าไม้
ความเป็นมาของเรื่องนี้สามารถย้อนกลับไปเมื่อกว่า 40 ปี ก่อน ราวปี พ.ศ. 2524 ซึ่งทางกรมป่าไม้นำพื้นที่ชุมชนและป่าเสื่อมโทรมจากการให้เอกชนทำสัมปทานไม้หวงห้าม มากำหนดเป็นพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จากข้อมูลที่ระบุไว้ในรายงานของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2566
ในรายงานฉบับเดียวกันยังกล่าวด้วยว่า ในการดำเนินการกำหนดพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เมื่อปี 2524 ทางหน่วยงานรัฐไม่ได้เข้าไปสำรวจรังวัดพื้นที่จริง ส่งผลให้การประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับซ้อนกับที่ทำกินของประชาชนในเวลาต่อมา
หาก #Saveทับลาน สำเร็จ จะเพิ่มผืนป่าได้หรือไม่
หากสามารถคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 265,000 ไร่ได้สำเร็จ จะสามารถเพิ่มผืนป่าให้มากขึ้นได้หรือไม่
ผอ.แลนด์ วอทช์ ไทย กล่าวว่า “ไม่จริง” เพราะนิยามคำว่าป่าไม้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ ปี 2484 บอกว่า ป่าไม้คือที่ดินที่ไม่ได้มาโดยการมีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน
“ที่ดินตรงไหนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินจะเรียกว่าป่าหมดเลย พอบอกว่า ‘เฉือนป่า’ จริง ๆ แล้วคือ การเฉือนที่ดินทำกินออกไป มันไม่ได้เป็นเรื่องการสูญเสียป่าที่เป็นสภาพป่า แต่มันเป็นการหายไปในเชิงตัวเลข” พรพนา กล่าว
นอกจากนี้ หนึ่งในเหตุผลที่กรมอุทยานฯ นำมาเป็นข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นต่อการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ระบุว่า การเพิกถอนจะส่งผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2548
ในประเด็นนี้ พรพนา กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีคนอยู่อาศัยอยู่กว่า 4,000 ชุมชน บนที่ดินกว่า 4 ล้านไร่ ซึ่งรวมทั้งอุทยานแห่งชาติทับลานด้วย แต่เกณฑ์การเป็นพื้นที่มรดกโลกขององค์การยูเนสโก มีประเด็นของการบริหารจัดการคนที่สามารถอยู่ร่วมกันในพื้นที่ป่าได้ ซึ่งไม่ได้ระบุให้คนต้องออกจากป่า
“เขาไม่ได้บอกว่า ต้องย้ายคนหรือไม่ให้มีคนอยู่ อันนี้เป็นเรื่องของหน่วยงานไทย และกลุ่มอนุรักษ์”
เธอกล่าวด้วยว่า พื้นที่ที่จะเพิกถอนอยู่ในจุดที่เป็นขอบของอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งพื้นที่ตรงกลางคือป่า ส่วนที่เพิกถอนสามารถบริหารจัดการด้วยการสร้างพื้นที่กันชนบัฟเฟอร์โซนเหมือนพื้นที่กันชนของกลุ่มป่าตะวันตก หรือการร่วมมือกับชุมชน ส่วนผู้ที่ครอบครองอย่างไม่ถูกต้อง ทั้งกลุ่มทุนหรือนักการเมือง รัฐต้องตรวจสอบโดยไม่เหมารวมกลุ่มชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิมาอย่างยาวนาน
หาก #Saveทับลาน สำเร็จ ชาวบ้านในที่ดินพิพาทจะถูกไล่ออกจากพื้นที่หรือไม่
ปัจจุบันกรมอุทยานฯ อนุญาตให้มีคนอาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีเงื่อนไขภายใต้มาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
พรพนา แสดงความเห็นว่า กรมอุทยานฯ จะใช้กฎหมายข้อนี้ในการดำเนินการกับผู้ที่อยู่ในเขตอุทยานฯ แต่เธอเห็นว่ามาตรการนี้ยังมีปัญหา เนื่องจากกฎหมายลำดับรองยังไม่ได้บังคับใช้เพราะถูกคัดค้านจากชุมชน
มาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานฯ กำหนดให้มีการสำรวจ 4,000 กว่าชุมชน และจัดทำโครงการการอยู่อาศัยในพื้นที่คราวละ 20 ปี ซึ่งกฎหมายนี้หมายความว่า ชุมชนต้องยอมรับว่าบุกรุกและยินดีเข้าโครงการนี้
พรพนา กล่าวว่า เมื่อโครงการมีระยะเวลาแค่ 20 ปี ชุมชนก็ไม่เห็นด้วย อีกทั้งยังมีการจำกัดการใช้ประโยชน์ที่เข้มงวดมาก เช่น การเลี้ยงสัตว์ การทำเกษตรกรรม และมีมาตรการลงโทษปรับที่สูงมาก กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้มากที่สุด คือกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าที่มีวิถีชีวิตการทำเกษตรเฉพาะอย่างไร่หมุนเวียน กลุ่มเหล่านี้ไม่เห็นด้วยเพราะพวกเขาจะ “ถูกลบวิถีชีวิตของเขาออกไป”
“เท่ากับว่าแก้ไขกฎหมายแล้วเอาไปใช้ย้อนหลังกับคนที่เขาบอกว่าอยู่มาก่อน ซึ่งชุมชนเหล่านั้นบอกว่า ควรได้รับการแก้ปัญหาอีกแบบหนึ่ง แต่กรมอุทยานฯ ไม่เคยยอมรับการแยกคนที่อยู่มาก่อน กลายเป็นว่าประกาศแล้ว ถือว่าคุณอยู่ในเขตอุทยานฯ คุณผิดกฎหมาย”
หลังจากออกมานำการรณรงค์ลงชื่อคัดค้าน ทางด้านมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์เฟซบุ๊กในวันนี้ (9 ก.ค.) ระบุถึงข้อเสนอการแก้ไขปัญหาแนวเขตและที่ดินในพื้นที่ อช.ทับลาน ว่ารัฐ “ไม่ควรแก้ไขปัญหาแบบเหมารวมทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน” และ “ควรแก้ไขปัญหาแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน และให้ความเป็นธรรมทั้งในแง่ของมนุษย์ ผืนป่า และสัตว์ป่า”